ปฏิทินส่งเสริมการท่องเที่ยว

ประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์

ประวัติแหล่งท่องเที่ยวโดยย่อ

     เทศบาลร่วมกับชุมชนบ้านวังกะ และวัดวงก์วิเวการาม จัดประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ชาวไทยรามัญ  ภาษามอญเรียกว่า  โปฮะมอดบ้าง ( โป=ถวาย , ฮะมอด=เครื่องเซ่นไหว้ , บ้าง=เรือ ) กำหนดจัด 3 วัน ในวันขึ้น 14-15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูชาเทวดาที่อยู่ในน้ำ ในป่า และบนบก

ประวัติความเป็นมาของประเพณีลอยเรือสะเดาะเคราะห์นี้ เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ขึ้นครองราชย์ปกครองอาณาจักรมอญ ที่เมืองหงสาวดี ทรงส่งชีปะขาวถือศีล 8 คณะหนึ่ง ออกเดินทางไปยังประเทศศรีลังกา เพื่อให้ไปถือการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาใหม่จากคณะสงฆ์ในประเทศศรีลังกา แล้วให้เดินทางกลับมาเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์บวชให้แก่คนมอญในเมืองมอญเสียใหม่ เมื่อเถึงประเทศศรีลังกา ได้รับการอุปสมบทแล้วก็เดินทางกลับ ในระหว่างทางที่เดินทางกลับนั้น เรือสำเภาลำหนึ่งในจำนวนสองลำโดนพายุพัดให้หลงทิศไป เมื่อทราบถึงพระกรรณของพระเจ้าธรรมเจดีย์  พระองค์จึงมีรับสั่งให้ทำเรือจำลองขึ้นมา ข้างในบรรจุด้วยของเซ่นไหว้บูชาเหล่าเทวดาทุกหมู่เหล่า ให้เรือสำเภาที่หลงทิศไปนั้น ได้เดินมาโดยปลอดภัย  หลังจากที่ทำพิธีสะเดาะเคราะห์แล้วไม่กี่วัน เรือที่หลงทิศไปนั้นก็เดินทางกลับมาถึงเมืองหงสาวดีโดยปลอดภัย  

 

 

ระยะเวลา

     ช่วงเดือนกันยายน

 

จุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยว

        ชาวบ้านต่อเรือจากไม้ไผ่ เย็นวันที่๑๔ ค่ำ ชาวบ้านจะนำ “ตง” หรือ “ธง” ที่ทำจากกระดาษแก้วฉลุลวดลายมาปักไว้รอบลำเรือ และธูปเทียนตามกำลังวันวางไว้ในเรือนไม่ไผ่หลังเล็กๆและร่วมสวดมนต์ไหว้พระกับพระภิกษุสงฆ์ ต่อมาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะจัดอาหาร และของเซ่นได้แก่ ข้าวสวย ข้าวตอก กล้วย อ้อย ถั่วตัด ขนมหวาน หมากพลู น้ำ เทียน และธงเล็กๆ ใส่จานไปถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเคารพเรียกว่า“ถวายข้าวลงเรือ” ช่วงสายหลังจากสวดมนต์ไหว้พระเรียบร้อยแล้ว จะทำการตักบาตรน้ำผึ้ง น้ำมันงา โดยตามตำรับยาน้ำผึ้งและน้ำมันงาเป็นส่วนผสมของยาโบราณ  แต่ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันพืชและน้ำตาลทรายแทนเพราะสามารถหาได้ง่าย ช่วงบ่ายจะตักบาตรดอกไม้ มีการแสดง การละเล่น และปล่อยโคมใหญ่โคมเล็ก และวันสุดท้ายคือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวมอญจะร่วมพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ชาวบ้านจะจับเชือกที่โยงจากเรือเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในการชักจูงเรือ ด้านหน้านำด้วยวงมโหรีปี่กลองเทศบาลตำบลวังกะได้เล็งเห็นความสำคัญของประเพณีดังกล่าวเพื่อเป็นการสืบทอดประเพณีท้องถิ่นให้คงอยู่